ปลายปีเสร็จแน่! สมาคมฯ เริ่มก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ใช้เวลา 341 วัน
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เริ่มดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคาร FA Thailand Futsal and Match Operation Center ภายในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ประตู 5 โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 341 วัน เริ่มสัญญาจ้าง วันที่ 4 มกราคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาจ้าง วันที่ 15 ธันวาคม 2565
สำหรับโครงการดังกล่าว สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางรากฐานที่จะต้องมีไว้ซึ่งสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการพัฒนากีฬาฟุตบอล, ฟุตซอล, ฟุตบอลชายหาด อย่างยั่งยืนและถาวร ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป จึงดำเนินการขอเช่าที่ดินภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย และได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ด้านข้างสมาคมเทควันโด้ บริเวณประตู 5 โดยสมาคมฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ในการเขียนโครงการนำเสนอฟีฟ่าจนได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการของฟีฟ่า (FIFA Development Committee) ก่อนได้รับการอนุมัติโครงการและงบประมาณเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา
— “FA Thailand Futsal and Match Operation Center” —
ตามนโยบายของฟีฟ่าที่ต้องการให้สมาคมประเทศสมาชิก ได้มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อการบริหารจัดการฟุตบอลให้ดำเนินงานอย่างยั่งยืน จึงมีการตั้งงบประมาณสนับสนุนเฉพาะนำไปพัฒนาด้านสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ภายใต้ชื่อ “FIFA Forward 2.0 : Infrastructure Project”
เดิม สมาคมฟุตบอลประเทศไทยฯ พยายามที่จะผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติเป็นอันดับแรก แต่ข้อจำกัดในการสรรหาที่ดินขนาดใหญ่ จึงอยู่ในระหว่างรออนุมัติการใช้ที่ดินจากหน่วยงานภาครัฐ จึงจะเตรียมดำเนินการต่อไป
ภายใต้การดำเนินงานของ พล.ต.อ.ดร. สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมฯ และสภากรรมการ มีนโยบายและเล็งเห็นความสำคัญยิ่งที่จะวางรากฐานเพื่อให้สมาคมฯ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตามจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ใช้งาน และเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารต่อไปในภายภาคหน้า จึงเห็นว่าระหว่างที่รอที่ดินในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาตินั้น สมาคมฯ ยังสามารถขยับสร้างโครงการสิ่งปลูกสร้างย่อยอื่นๆ แบบ “QUICK WIN” เป็นประโยชน์ จับต้องได้ ภายในระยะเวลาสั้น ทันต่อช่วงเวลาที่ฟีฟ่าจะสามารถสนับสนุนได้ จึงมีการวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ จากฝ่ายการทำงาน เพื่อหาทางออกที่จะตอบโจทย์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟุตบอลได้ในพื้นที่ขนาดจำกัดภายในบริเวณการกีฬาแห่งประเทศไทย และใกล้กับสนามราชมังคลากีฬาสถาน
จนออกมาเป็นการผสมผสานของการใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรม (ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน, บุคลากร), ศูนย์ปฏิบัติการจัดการแข่งขัน, ห้อง VAR, ห้องสัมมนาและจัดการประชุม, สนามซ้อมฟุตซอลขนาดมาตรฐานในร่ม, ห้องจัดเก็บอุปกรณ์, ห้องพิพิธภัณฑ์ รวมไปถึงพื้นที่สำนักงานที่ร่วมกันระหว่างสมาคมฯ และไทยลีก ในชื่อ FA Thailand Futsal and Match Operation Center
— แนวคิด “Small but Functional” —
ภายในอาคารที่ได้รับการอนุมัติโครงการจากฟีฟ่า จะเป็นอาคาร 3 ชั้นในพื้นที่ไม่มากนัก แต่สมาคมฯ ได้พยายามใช้พื้นที่เพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาคารอเนกประสงค์รองรับกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำของสมาคมฯได้
— Futsal Pitch + Multipurpose Hall —
โจทย์แรกคือการแก้ปัญหาสนามซ้อมทีมชาติฟุตซอล ที่ในปัจจุบันต้องเช่าห้องโถงเปล่าเพื่อทำการเก็บตัวฝึกซ้อมเมื่อใกล้การแข่งขัน บางครั้งพื้นที่ฝึกซ้อมก็ไม่ได้เป็นขนาดสนามที่ได้มาตรฐานบวกกับระยะเวลาที่อาจจะตรงกับกิจกรรมอื่นของเจ้าของพื้นที่ ทางสมาคมฯ จึงได้ปรึกษากับฝ่ายพัฒนาฟุตซอล เล็งเห็นว่าฟุตซอลทีมชาติไทยต้องมีสนามฝึกซ้อมที่อยู่ในพื้นที่กลางเมือง มีห้องแต่งตัว มีสนามขนาดมาตรฐาน และการอยู่ใกล้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและฟิตเนสของ กกท. ยิ่งเป็นการทำงานที่สอดคล้องและสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม จึงเป็นที่มาของการใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารเพื่อกีฬาฟุตซอล ในขณะเดียวกันสามารถลดค่าใช้จ่ายสมาคมฯ ในการหาห้องประชุม, ห้องสัมมนา, จัดงานมอบรางวัล ที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ทุกๆครั้งที่มีกิจกรรม เพราะสามารถสลับสับเปลี่ยนสนามฟุตซอล เป็นห้องโถงเอนกประสงค์ กั้นห้องขนาดย่อยต่างๆ ได้อีกด้วย
— ห้องปฏิบัติการจัดการแข่งขัน —
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ติดกับสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นที่จัดการแข่งขันหลักของทัวร์นาเมนต์ทีมชาติไทยในรุ่นอายุต่างๆ จากในอดีต การลำเลียง, จัดเก็บอุปกรณ์ และการเข้าเตรียมงาน จะประสบปัญหาการเดินทางระหว่างฝ่ายจัดการแข่งขันไปยังสนามแข่งขัน ปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลงไปได้ อาคารใหม่จะสามารถสนับสนุนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ของฟีฟ่า, เอเอฟซี หรือ ฝ่ายจัดการแข่งขัน สามารถใช้ในการเตรียมงานได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงห้อง Match Center และห้อง VAR ของไทยลีกที่จะขยายให้รองรับหากว่ามีการนำ VAR มาใช้ในจำนวนมากขึ้น
— ห้องสัมมนา และ ห้องประชุม —
เช่นเดียวกันกับการจัดกิจกรรมฝึกอบรมต่างๆ เช่น ผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน, บุคลากรสโมสรฟุตบอล ฯลฯ ก็จะมีห้องสัมมนาที่มีอุปกรณ์ประกอบการนำเสนอที่ครบครัน ใกล้กับสนามแข่งขัน และสนามซ้อมในบริเวณการกีฬาแห่งประเทศไทย ตอบโจทย์การฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้ง่ายขึ้น, ลดค่าใช้จ่าย, ง่ายต่อการกำกับดูแลมาตรฐาน
รวมไปถึงการประชุมทีมชาติ, ประชุมสโมสรสมาชิก, การประชุมสภากรรมการ, การประชุมใหญ่สามัญ, งานแถลงข่าว หรือ งานมอบรางวัล FA Awards ของสมาคมฯ ก็จะสามารถดำเนินการได้ภายในอาคารนี้ได้
— ส่วนสำนักงาน, พิพิธภัณฑ์ และส่วนบริการ —
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือสำนักงานสมาคมฯ ที่มีพื้นที่ในการรองรับบริการสโมสรสมาชิกที่เข้ามาติดต่อประสานงานเป็นสัดส่วนชัดเจน ห้องทำงานที่รองรับจำนวนเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น และส่วนของ Co-working area สร้างบรรยากาศในการทำงานแบบ Shared space ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลร่วมสมัยขนาดย่อมที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้อีกด้วย
อนึ่ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ มีโครงการ FIFA Forward 2.0 Infrastructure Project เป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ชาติสมาชิกนำเสนอโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคด้านฟุตบอล โดยฟีฟ่าจะพิจารณาให้ประเทศสมาชิกละไม่เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 60 ล้านบาท ในวงรอบ 4 ปี โดยมีเงื่อนไขจะต้องปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งเป็นของสมาคมฟุตบอลฯ ประเทศสมาชิก หรือมีสัญญาเช่าในระยะยาวเท่านั้น
มุมแสดงทรรศนะ