10 อันดับสนามใหญ่สุดในเอเชีย อาเซียนติด 2 สนาม
นอกเหนือจากเรื่องของความหลงใหลคลั่งไคล้ทีมชาติและสโมสรในการเดินทางออกไปเชียร์เรื่องของสนามฟุตบอลก็อีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการทำให้แฟนฟุตบอลอยากเดินทางไปชมไปเชียร์ถึงขอบสนามด้วยบรรยากาศที่น่าจดจำประสบการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในความทรงจำ สิ่งเหล่านี้จึงมักเกิดขึ้นกับบรรดาคอบอลที่มักเลือกสะสมไมล์การชมฟุตบอล แน่นอนว่าความยิ่งใหญ่ของสนามฟุตบอลทั่วโลกบอกถึงวิถีวัฒนธรรมการต่อสู้ของแต่ละชาติทุกอย่างแสดงออกมาเต็มอัตลักษณ์
สำหรับในทวีปเอเชียที่เต็มไปด้วยความแตกต่างของภาษาและเชื้อชาติภูมิอากาศต่างก็ลงมือลงแรงสร้างสนามฟุตบอลแข่งขันกับทั่วโลก ซึ่งสนามที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในเรื่องของความจุจำนวนผู้ชมอยู่ในทวีปเอเชียที่ประเทศเกาหลีเหนือ คือ เมย์เดย์ สเตเดี้ยม สามารถจุผู้ชมได้ถึง 114,00 ที่นั่ง นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสนามที่ก้าวขึ้นไปติดอันดับท็อปของโลก ลองไปดูกันว่า 10 สนามที่มีความจุมากที่สุด 10 อันดับแรกของเอเชียมีสนามไหน?กันบ้าง?ที่ติดท็อปเทนของโลก
อันดับ 10:กีโลรา บุงกาโน(อินโดนีเซีย) – 77,193 ที่นั่ง
กีโลรา บุงกาโน หรือเสนายัน เป็นสนามที่มีความจุมากเป็นอันดับ 10 ของทวีปเอเชีย และ อันดับ 27 ของโลก ตั้งอยู่ที่กรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1962 ใช้เป็นสนามเปิดการแข่งขันเอเซียนเกมส์ เดิมทีสนามแห่งนี้มีความจุ 110,000 ที่นั่ง แต่ถูกปรับมาเรื่อยๆเพื่อให้เข้ากฎระเบียบการแข่งขันโดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพเอเซียน คัพ ร่วมปี 2007 จนถึงปัจจุบันความจุ 77,193 ที่นั่ง ซึ่งสนามแห่งนี้เคยมีสถิติบันทึกไว้ว่ามีผู้ชมเข้าไปชมเกมการแข่งขันมากสุดถึง 150,000 คน ปี 1985 เป็นการแข่งขันของ 2 ทีมในประเทศระหว่างเปอร์ซิบบันดุงเล่นกับเพเอสเอ็ม เมดาน
อันดับ 9: อาซาดี้ สเตเดี้ยม (อิหร่าน) – 78,116 ที่นั่ง
อาซาดี้ สเตเดี้ยม รังเหย้าของทีมชาติอิหร่าน ซึ่งถือว่าเป็นสนามที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 26 ของโลกและเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย สนามแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงเตหะราน เป็นรังเหย้าของสโมสรฟุตบอลเอสเตกัล ก่อนหน้านี้เปิดสังเวียนจัดการแข่งขันกีฬาระดับทวีปมามากมายทั้งการแข่งขัน เอเซียนเกมส์ 1974,เอเซียนคัพ 1976 และรายการอื่นๆอีกมากมาย แน่นอนว่าหากคิดถึงทีมชาติอิหร่านหรือนักเตะอิหร่านที่ผ่านการติดทีมชาติสนามแห่งนี้คือแรงบันดาลใจให้พวกเขาเติบโตมาเป็นส่วนหนึ่ง ณ สถานที่แห่งนี้
อันดับ 8: ปักกิ่ง เนชั่นแนล สเตเดี้ยม(จีน)-80,000 ที่นั่ง
ปักกิ่ง เนชั่นแนล สเตเดี้ยม ของ จีน หรือเรียกกันจนติดปากว่าสนาม “รังนก” ซึ่งการออกแบบนั้นทำได้ทันสมัยสวยงาม สนามแห่งนี้มีความจุอยู่ที่ 80,000 ที่นั่ง อยู่อันดับ 24 ของโลก และอันดับ 8 ของเอเชีย ที่ผ่านมาสนามแห่งนี้สร้างชื่อจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกปี 2008 และกำลังจะได้กลับมาจัดมหกรรมกีฬาระดับใหญ่อีกครั้งในปี 2022 สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว นอกจากจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาใหญ่ๆแล้วสนามแห่งนี้ก็ยังเป็นสังเวียนแข้งของทีมชาติจีนในการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ๆอีกด้วย
อันดับ 7: กวางตุ้ง โอลิมปิก สเตเดี้ยม (จีน)-80,012 ที่นั่ง
กวางตุ้ง โอลิมปิค สเตเดี้ยม ของ จีน เป็นอีกหนึ่งสนามที่มีความจุติดอันดับท็อปเทนของทวีปเอเชีย และอยู่อันดับ 21 ของโลกเป็นรองซานซิโร ของอิตาลีในเรื่องของความจุเพียง 6 ที่นั่งเท่านั้น สนามกวางตุ้งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1998 ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2001 สนามแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามที่ร่วมเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2008 อีกทั้งยังเป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอล กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ในศึกฟุตบอลไชนิส ซูเปอร์ลีก
อันดับ 6 : ชาห์ อลัม สเตเดี้ยม(มาเลเซีย)-80,372 ที่นั่ง
สนามกีฬาชาห์ อลัม สเตเดี้ยม ที่อตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน เป็นอีกหนึ่งสนามที่ติดอยู่ในอันดับแถวหน้าของทวีปเอเชีย ด้วยความจุ 80,372 ที่นั่งทำให้สนามกีฬาแห่งนี้ของมาเลเซียรั้งอันดับความจุ ลำดับ 18 ของโลก สนามแห่งนี้เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 1974 โดยมีมูลค่าสูงถึง 480 ล้านริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.5 พันล้านบาท สนามแห่งนี้ถูกใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลแมตซ์สำคัญมากมายไม่ว่าจะเป็นแมตซ์พิเศษของการลงสนามทีมจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ,เอเอฟเฟ ซูซูกิ คัพ และ ฟุตบอลมาเลเซีย คัพ
อันดับ5:ANZ สเตเดี้ยม(ออสเตรเลีย)-83,500 ที่นั่ง
ANZ สเตเดี้ยม สนามที่มีขนาดความจุเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ตั้งอยู่ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่เดิมที่มีความจุระดับหลักแสนก่อนที่จะปรับห้าเข้ากับระเบียบการแข่งขัน ทำให้ปัจจุบันสนามแห่งนี้มีความจุอยู่ที่ 83,500 ที่นั่ง นอกจากฟุตบอลที่ทีมชาติออสเตรเลียลงแข่งขันแล้วยังมีกีฬาอื่นๆที่จัดการแข่งขันด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็น รักบี้,คริกเกต
อันดับ 4:ซอล์ทเลค สเตเดี้ยม(อินเดีย)-85,000 ที่นั่ง
อินเดีย เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการสร้างสนามกีฬาระดับมาตรฐานขึ้นมามากมาย ซึ่งสนาม ซอล์ทเลค สเตเดี้ยม ที่ตั้งอยู่ในกรุงกัลกาตา ที่มีความจุถึง 85,000 ที่นั่งกลายเป็นสนามที่มีความจุอยู่ในอันดับ 10 ของโลก และรั้งอันดับ 4 ของทวีปเอเชีย ด้วยพฤติกรรมของชาวอินเดียที่ชื่นชอบการเชียร์กีฬา ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล หรือกีฬายอดฮิตอย่างคริกเกต ทำให้สนามแห่งนี้เนืองแน่นทุกครั้งยามทีมชาติของพวกเขาลงทำการแข่งขัน เดิมทีสนามแห่งนี้มีความจุ 120,000 ที่นั่ง แต่การปรับปรุงในปี 2011 ทำให้เหลือความจุเพียง 85,000 ที่นั่ง
อันดับ3:บูกิต จาริล(มาเลเซีย)-87,411 ที่นั่ง
บูกิต จารีล ของมาเลเซีย สร้างตั้งปี 1995 ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา สนรามแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และเป็นสนามฟุตบอลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2018 ได้รับรางวัล World Stadium Congress Awards สนามแห่งนี้ได้รับคำกล่าวขานว่าเป็นสนามที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของทวีป ปัจจุบันความจุของบูกิตจารีลอยู่ที่ 87,411 ที่นั่ง หลังการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตารมระเบียบการแข่งขันรั้งอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย
อันดับ2:เมลเบิร์น คริกเกต กราวด์(ออสเตรเลีย)- 100,024 ที่นั่ง
อีกหนึ่งสนามของทวีปเอเชียที่อยู่ในออสเตรเลีย และติดโผท็อปเทนความจุเอเชีย คือ เมลเบิร์น คริกเกต กราวด์ สนามกีฬา ที่มีความจุถึง 100,024 ที่นั่ง ตั้งอยู่ใน กรุงเมลเบิร์น โดยความจุของสังเวียนการแข่งขันแห่งนี้ติดอันดับความจุอยู่ที่ 2 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ที่ผ่านมาทีมชาติออสเตรเลียใช้สนามแห่งนี้ลงแข่งขันฟุตบอลรายการที่สำคัญรวมไปถึงกีฬาอย่าง คริกเก็ต รวมไปถึงกีฬาชนิดอื่นๆ โดยสถิติสูงสุดที่มีแฟนกีฬาเช้าไปชมการแข่งขันเกิดขึ้นปี 1970 ก่อนการปรับปรุง ในการแข่งขัน วีเอฟแอลแกรนด์ไฟนอล อยู่ที่ 121,696 คน
อันดับ1:รึงนาโด เมย์เดย์ สเตเดี้ยม(เกาหลีเหนือ)-114,000 ที่นั่ง
เมย์เดย์ สเตเดี้ยม หรือ รึงนาโด เมย์เดย์ สเตเดี้ยม คือสนามกีฬาที่มีความจุมากที่สุดของโลก 114,000 ที่นั่งและเป็นอันดับหนึ่งของทวีปเอเชีย ตั้งอยู่ในกรุงเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือ เป็นอีกหนึ่งสนามที่เชื่อว่าหลายๆคนอยากเข้าไปสัมผัสเพราะนอกจากความกว้างใหญ่ของสนามแห่งนี้จนติดอันดับหนึ่งของโลกแล้วการเข้าออกประเทศแห่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สนามแห่งนี้เปิดใช้ 1พ.ค. 1989 เกาหลีเหนือพยายามจะสร้างสนามแห่งนี้เพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกแต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงหันมาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเยาวชนโลก ครั้งที่ 13 แทน ปัจจุบันสนามแห่งนี้กลายเป็นสนามเหย้าของทีมชาติเกาหลีเหนือ และจัดกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของเกาหลีเหนืออย่างสม่ำเสมอ
มุมแสดงทรรศนะ